การซื้อที่ดินนั้น นอกจากผู้จะซื้อควรตรวจสอบโฉนดให้รัดกุมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อควรตรวจสอบ คือ คุณสมบัติของผู้ที่จะทำขายให้เรา ว่ามีความสุจริตในการใช้สิทธิขายอสังหาริมทรัพย์นั้นให้เราหรือไม่ มิฉะนั้นอาจลงเอ่ยแบบ ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ก็เป็นได้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์
ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้
สรุป : อย่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องมรดกอยู่ และหลีกเลี่ยงจากการซื้อจากผู้จัดการมรดก เว้นแต่ทายาทที่มีส่วนได้เสียในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งนะครับ
#ทนายความเชียงใหม่ #ทนาย เชียงใหม่ #ทนายความ เชียงใหม่