ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยาน ในพินัยกรรมได้หรือไม่?

ในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653  ได้วางหลักว่า ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562

ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2562

จำเลยที่ 2 ผู้มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง มีผลทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ ถ. ยกที่ดินพิพาทเนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705

สรุป การที่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมหรือแม้แต่คู่สมรสลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้น ย่อมมีผลทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ดังนั้น สำหรับท่านที่ทำพินัยกรรมแบบประเภทที่กฎหมายบังคับให้มีพยานรับรู้เจตนาด้วยนั้น ควรพึงระวังในประเด็นนี้ให้มากครับ

#ทนายความเชียงใหม่ #ทนายเชียงใหม่ #ทนายความลำพูน #ทนายลำพูน #ทนายความลำปาง #ทนายลำปาง

Message us