มีหลายเคสที่มีการ #ร่วมหุ้นลงขันลงทุนเปิดบริษัทด้วยกัน แต่ต่อมาเกิดมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหรือทะเลาะกันลุกลามบานปลาย เนื่องจากปัญหาต่างๆ จนธุรกิจต้องหยุดชะงัก ครั้นจะไปจดทะเบียนเลิกบริษัท ชำระบัญชี แบ่งทรัพย์สินที่ร่วมลงขันกันมาให้จบๆไป แต่บรรดาหุ้นส่วนเสียงข้างมากดันเล่นแง่ไม่ยอม หรือทำเพิกเฉยเสียนี่ แล้วแบบนี้หุ้นส่วนเสียงข้างน้อยอย่างเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
เรื่องนี้ #ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1237 ได้วางหลักว่า #ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
(1) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
(2) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม
(3) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
(4) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน
(5) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร
#ตัวอย่าง เทียบฎีกาที่ 8937/2560
ผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและไม่ยอมลงลายมือชื่อร่วมกันเพื่อทำกิจการใด ๆ ของบริษัทถึงขั้นต่างฝ่ายต่างฟ้องดำเนินคดีทางอาญาต่อกัน ทำให้บริษัทหยุดทำการมานับถึงวันที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอเป็นเวลานานถึง 4 ปีเศษ มีเพียงการติดตามหนี้สินที่มีสิทธิได้รับเท่านั้น #จึงเป็นกรณีที่บริษัทหยุดทำการถึงหนึ่งปีเต็ม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237(2) #ซึ่งเป็นเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดได้ และเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว #ผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
สรุป เมื่อมีเหตุดังกล่าวตาม ม.1237 #ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดย่อมขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัทได้
#ทนายความเชียงใหม่ #ทนายเชียงใหม่ #ทนายความลำพูน #ทนายลำพูน #ทนายความลำปาง #ทนายลำปาง