พินัยกรรมคืออะไร สำคัญอย่างไร?

พินัยกรรม(Will) ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง นิติกรรมซึ่งบุคคลแสดงเจตนากําหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว

พินัยกรรมเหมาะกับทุกคนที่ต้องการจัดการทรัพย์สินของตน พินัยกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ รอบตัวเรามีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย หลายครอบครัวทะเลาะกัน แตกแยก ตัดญาติพี่น้อง ฟ้องร้องกันบานปลาย บางรายถึงขั้นทำร้ายเอาชีวิตกัน และมีหลายกรณีซึ่งปรากฏว่าหลังจากเจ้ามรดกจากไป มรดกกลับตกไปอยู่กับคนที่เจ้ามรดกไม่ได้มีเจตนาจะมอบให้ก็มี อันเนื่องมาจากขณะมีชีวิตอยู่ เจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือทำไว้แต่ไม่รัดกุม ทำผิดแบบที่กฎหมายกำหนด ใช้ถ้อยคำไม่ชัดเจน จนทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะหรือข้อกำหนดบางข้อเป็นอันตกไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

ส่วนอีกกรณีที่ผู้คนทั่วไปมักคิดไม่ถึง คือ แม้แต่พินัยกรรมที่ออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือพินัยกรรมฝ่ายเมืองเอง หลายครั้งก็ปรากฏว่าตกเป็นโมฆะ เพราะเจ้าหน้าที่ลืมตรวจสอบรายละเอียดตามแบบที่บังคับไว้ก็มี เช่น ลืมลงลายมือชื่อ(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.214/2550) พยานไม่ครบ(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.732/2562) เป็นต้น

ดังนั้น การทำพินัยกรรมจึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของชีวิต ที่ต้องบริหารจัดการ และให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องของวิธีการร่างที่ถูกต้องตามแบบ รัดกุม และชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

#ทนายความเชียงใหม่ #ทนายเชียงใหม่ #ทนายความลำพูน #ทนายลำพูน #ทนายความลำปาง #ทนายลำปาง

Message us